สยามฟอเรสทรี สร้างสวนไม้ยั่งยืนพัฒนารายได้เกษตรกร
วันที่เผยแพร่ 23 มี.ค. 2564
หากพูดถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) กลุ่มเอสซีจี ถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่ดำเนินธุรกิจทางด้านนี้อย่างชัดเจน สอดคล้องไปกับแนวโน้มของตลาดโลก ที่มีความใส่ใจกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน สินค้าหรือบริการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ จะเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากขึ้น
และนั่นคือแนวทางที่ทำให้ “มหาศาล ธีรวรุตม์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด กลุ่มธุรกิจในเครือเอสซีจีแพคเกจจิ้ง (SCGP) ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจ สร้างรูปแบบของระบบการจัดการสวนไม้อย่างยั่งยืน ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) ควบคู่ไปกับนวัตกรรมยูคาลิปตัสสายพันธุ์ใหม่ และการวางแผนการปลูกไม้เชิงพาณิชย์อย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกร
“มหาศาล” เล่าว่า สยามฟอเรสทรี เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นผู้ให้บริการครบวงจรเกี่ยวกับไม้ยูคาลิปตัส ก่อนหน้านี้ ดำเนินการรับซื้อไม้ยูคาลิปตัสจากเกษตรกรรายย่อย เพื่อนำมาผลิตเยื่อไม้สำหรับการทำแพ็คเกจจิ้ง แต่ 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้พัฒนารูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ลูกค้ามีความต้องการไม้ที่มาจากป่าปลูกอย่างยั่งยืน ได้รับการรับรองจาก FSC สยามฟอเรสทรี จึงปรับเปลี่ยนธุรกิจ พร้อมทำโครงการเพิ่มมูลค่าพื้นที่ว่าง ร่วมกันสร้างป่ายั่งยืน โดยบริษัทเข้าไปเช่าพื้นที่จากเกษตรกร ทำเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ปลูกยูคาลิปตัสด้วยการบริหารจัดการแบบสวนป่าอย่างยั่งยืน โดยมี FSC เข้ามาตรวจสอบรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน
“การเริ่มธุรกิจนี้ ในเอสซีจีแพ็คเกจจิ้ง เราทำตั้งแต่ต้นนํ้า ผลิตกล้าป่า ส่งเสริมเกษตรกรปลูกป่า และรับซื้อคืน และเป็นการสับไม้ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื้อ ซัพพอร์ตโรงงานของเอสซีจีพีเอง และส่งให้ญี่ปุ่นและจีน ตั้งแต่ทำมาประมาณ 2 ปี เราสร้างสวนป่าขนาดใหญ่ได้ 5.1 หมื่นไร่ และเราตั้งเป้าขยายให้ได้ปีละ 5 หมื่นไร่ เพื่อให้ได้ไม้ 1 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 60% ของไม้ในกระบวนการผลิตของเรา”
ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด ในเครือ SCGP
อ่านฉบับเต็มได้ที่ : https://www.thansettakij.com/content/strategy/472718